ข้ามไปเนื้อหา

ประมวลกฎหมายแพ่งเกาหลี มาตรา 809

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ประมวลกฎหมายแพ่งเกาหลี มาตรา 809 (เกาหลี: 민법 제 809조) ประมวลไว้ซึ่งกฎทางจารีตประเพณีที่ห้ามการสมรสระหว่างชายหญิงซึ่งมีนามสกุลหรือต้นสกุล (본관 บนควัน) เดียวกัน ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเกาหลีวินิจฉัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ[1] ต่อมารัฐสภาแห่งสาธารณรัฐเกาหลีได้ผ่านร่างแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2548 และห้ามการสมรสเฉพาะญาติสนิทเท่านั้น

กฎข้อห้ามในการสมรส

[แก้]

ในเกาหลีนั้น บุตรจะใช้นามสกุลของบิดา[2] และตามจารีตประเพณี ชายกับหญิงที่มีนามสกุลเหมือนกันและมี "ต้นสกุล" หรือที่เรียกว่า ทงซ็อง ดงบุน (ฮันกึล: 동성동본, ฮันจา: 同姓同本) เหมือนกัน จะไม่ได้รับอนุญาตให้สมรสกัน

กฎนี้เรียกว่า ฮนอินพอม (ฮันกึล: 혼인법, ฮันจา: 婚姻法) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน[3] ซึ่งสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้อย่างน้อยที่สุดในปลายสมัยราชวงศ์โชซ็อนแห่งเกาหลี อนึ่ง ในบริบทของลัทธิขงจื๊อนั้น กฎดังกล่าวเป็นกลไกที่จะรักษาอัตลักษณ์ของครอบครัว และรับประกันความสมบูรณ์ของครอบครัวในฐานะที่เป็นสถาบันสังคมวิทยาการเมือง[4]

กฎแห่งการสมรสบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา 809 ในปี พ.ศ. 2500 ความว่า

มาตรา 809 [ห้ามสมรสกับบุคคลที่มีนามสกุลและต้นสกุลเหมือนกันกับตน] (1): การสมรสระหว่างญาติสืบสายโลหิตจะกระทำมิได้ ถ้าคู่สมรสมีทั้งนามสกุลและที่มาของนามสกุลเสมือนกัน


ยกตัวอย่างเช่นนามสกุลคิม (ฮันกึล: 김, ฮันจา: 金) สามารถแบ่งแหล่งที่มาของสกุลได้ถึง 288 สาย ซึ่งสามารถระบุความแตกต่างได้จากสถานที่มาของบรรพบุรุษ[5] โดย 2 สายใหญ่ของนามสกุลคิม มาจากกิมแฮ ประมาณ 4 ล้านคน, คย็องจู ประมาณ 1.5 ล้านคน โดยทั้งสองสกุลคิมต่างก็สืบเชื้อสายคนละสาย ดังนั้นนามสกุลคิมจากกิมแฮ และนามสกุลคิมจากคย็องจูสามารถทำการสมรสกันได้ ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2541 คนที่สืบเชื้อสายมาจากนามสกุลคิมจากกิมแฮ ที่มีประมาณ 4 ล้านคน ไม่สามารถทำการสมรสกันเองได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ญาติสนิทกันก็ตาม

เนื่องจากการเติบโตของประชากร, การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานครั้งยิ่งใหญ่และการเพิ่มขึ้นของชุมชนเมืองในเกาหลีใต้ โอกาสที่จะทำความรู้จักและพบรักกันกับคนที่นามสกุลและมีที่มาของนามสกุลเดียวกับตนมีมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ นามสกุลคิมสายกิมแฮ, นามสกุลพักสายมีรยัง และนามสกุลอีสายจ็อนจู

เพราะประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 809 ที่บัญญัติไว้เช่นนั้น ทำให้ชายและหญิงที่มาจากนามสกุลเดียวกันและมีที่มาของนามสกุลเดียวกันเลือกที่จะอยู่กินกันฉันสามีภริยา การห้ามทำการสมรสระหว่างคนที่มีนามสกุลเดียวกันได้ถูกยกเว้นชั่วคราว โดยมีการตรารัฐบัญญัติพิเศษสามครั้งในปี พ.ศ. 2520[6], 2530[7] และ 2538[8] แต่ละครั้งมีระยะเวลาหนึ่งปี ครั้งแรกสำหรับรัฐบัญญัติพิเศษปี 2520 คู่สมรสมีทั้งนามสกุลและที่มาของนามสกุลเสมือนกันจำนวน 4577 คู่ กลานยเป็นคู่สมรสโดยถูกต้องตามกฎหมาย ในปี พ.ศ. 2530 เพิ่มขึ้นเป็น 12,443 คู่ และในปี พ.ศ. 2539 มีจำนวนสูงถึง 27,807 คู่[9] แต่คู่สมรสที่อยู่กินฉันสามีภริยาในกรณีดังกล่าวจากการประมาณอาจมีจำนวนถึง 200,000 คู่ ดังนั้นมีจำนวนเพียงเกือบ 2 เปอร์เซ้นต์ เท่านั้นที่เป็นคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายในเกาหลีใต้ บุตรที่เกิดจากการอยู่กินฉันสามีภริยาจากคนที่มีนามสกุลเดียวกันและมีที่มาของนามสกุลเดียวกัน จะไม่มีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุข และความไม่เท่าเทียมในการเป็นทายาทและเจ้าของกรรมสิทธิ

ศูนย์ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายสำหรับความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดทำรายงานพิเศษ และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 809

มาตรา 809 ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากจากนักกฎหมายครอบครัวเกาหลีและสมาคมนักกฎหมายเกาหลี ว่าเป็นบทบัญญัติที่ฝ่าฝืนหลักเสรีภาพในการสมรส และเป็นการเพิ่มความมั่นคงให้กับประเพณีของเกาหลีใต้ที่บิดาเป็นใหญ่[10]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Same-Surname-Same-Origin Marriage Ban case (95Hun-Ka6 on Article 809 (1) of the Civil Act);
    ^ THE FIRST TEN YEARS OF THE KOREAN CONSTITUTIONAL COURT (PDF), Constitutional Court of Korea, p. 242 (p.256 of the PDF).
  2. Article 781 Korean Civil Code [Entry into Family Register of Surname and Origin of Surname of Child] (1) A child shall assume its father’s surname and the origin of surname and shall have its name entered in its father’s family register.
  3. See article 182, "Marriage by Those of the Same Surname" in Wallace Johnson (trans.) The T'ang code (Princeton, N.J.: Princeton University Press, 1979) at 49-82.
  4. "Family versus the individual: the politics of marriage laws in Korea" in Daniel A. Bell and Hahm Chaibong (ed.) Confucianism for the modern world (Cambridge University Press, 2003) at 336.
  5. National Bureau of Statistics, Economic Planning Board, Report on the Korean surname and Its Origin (1988) Vol. 1 at 12-228.
  6. Act No. 3052, 31 December 1977.
  7. Act No. 3971, 28 November 1987.
  8. Act No. 5013, 6 December 1995.
  9. Mi-Kyung Cho, "Violation of the Constitution in Korean Family Law" (2002) International Survey of Family Law 243 at 245.
  10. See Mi-Kyung Cho, "The Family Law Reform and the Improvement of the Status of Women" 33 University of Louisville Journal of Family Law (Annual Survey of Family Law) 437.